การฝึกหัดมวยไทย จะต้องอาศัยความมานะพยายาม ต้องอดทน และใช้ความคิดให้เกิดไหวพริบในการฝึก ดังนั้นผู้ฝึก หรือครูมวยจะดูลักษณะของแต่ละคนก่อนว่าสมควรจะฝึกมวยลีลาไหน ซึ่งลาลาของมวยไทยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะดังนี้
มวยหลัก หรือ มวยแข็ง หมายถึง มีวิธีการต่อสู้อย่างรัดกุม สุขุมรอบคอบ ทั้งท่าคุมมวยและจดมวยอย่างมั่นคง การเคลื่อนตัวก้าวอย่างเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ดูคล้ายจะเชื่องช้าไม่คึกคะนอง ลักษณะประเภทนี้จะถูกฝึกสอนให้ตั้งรับและรอจังหวะ สุขุมเยือกเย็น มีลำหักลำโค่นดี ใช้ศิลปะมวยไทยได้หนักหน่วง รุนแรง และแม่นยำ เหมาะกับคนที่มีรูปร่างใหญ่และใจเย็นฝึกฝนมวยหลัก
มวยเกี้ยว หรือ มวยอ่อน หมายถึงมีวิธีการต่อสู้ที่ใช้ชั้นเชิงแพรวพราว การเข้าทำคู่ต่อสู้ จะไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนตัวไปมา ทั้งซ้ายและขวาสลับกัน ทำให้คู่ต่อสู้จับทางมวยยาก มวยเกี้ยวจะมีลีลา ท่าทางแคล่วคล่องว่องไว หลอกล่อ หลบหลีกได้ดี มีสายตาดี การฝึกถึงขั้นต้องเยื้องย่างในน้ำ ตีให้น้ำกระเซ็น ห้ามหลับตา แรงต้านของน้ำจะช่วยให้เมื่ออยู่บนบกจะสามารถรุกรับ ออกอาวุธได้อย่างรวดเร็วทั้งเท้า เข่า ศอก และหมัด เหมาะสำหรับคนที่มีรูปร่างเล็ก ผอมเพรียวฝึกฝนมวยเกี้ยว
ทั้งมวยหลักและมวยเกี้ยวต่างก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือมวยหลักจะมีความรุนแรงในการใช้เท้า เข่า ศอก ส่วนมวยเกี้ยวจะใช้ เท้า เข่า หมัด ศอก ได้รวดเร็วฉับพลันกว่า แม้จะไม่รุนแรงเท่ามวยหลักก็ตาม
มวยหลักและมวยเกี้ยวขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของแต่ละคน สำหรับผู้ที่รูปร่างสันทัดไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไปก็สามารถฝึกฝนในลักษณะผสมผสานระหว่างมวยหลักและมวยเกี้ยวคู่กันไป คือมีทั้งความคล่องแคล่วว่องไวและรุนแรงในการใช้เท้า เข่า หมัด ศอก